Friday, March 29, 2024
HomeAuto TestToyota Hilux REVO Double Cab 4x4 2.8G ของดีมีเยอะ

Toyota Hilux REVO Double Cab 4×4 2.8G ของดีมีเยอะ

Toyota Hilux REVO Double Cab 4×4 2.8G
ของดีมีเยอะ

กว่า 10 ปีที่ Hilux Vigo โลดแล่นบนท้องถนนเมืองไทย และก้าวสู่ความเป็นรถปิกอัพยอดนิยมที่มียอดขายดีเป็นอันดับ 1 ตลอดมา และเมื่อถึงเวลาของการปฏิวัติกันใหม่หมดเพื่อมาเป็น Hilux REVO ในครั้งนี้ มีอะไรหลายๆ อย่างที่พัฒนาขึ้นมาจากคำนิยามใหม่ของคำว่า Toughness สู่ความเป็นพื้นฐานของการพัฒนา Development Concept เพื่อให้ได้มาซึ่ง QDR อันประกอบไปด้วย Quality, Durability และ Reliability นำไปสู่เรื่องของความปลอดภัย, การประหยัดน้ำมัน, การขับขี่

เรื่องหน้าตาทั้งภายนอกและภายในไม่ต้องว่าความกันให้มาก เพราะ REVO คันนี้จัดมาให้กันแบบเต็มๆ ในครั้งนี้เราจะมาดูกันในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีในส่วนของเครื่องยนต์ตัวใหม่ รวมไปถึงเรื่องของเกียร์ การทดสอบในครั้งนี้มีโอกาสขับในรุ่นของ Double Cab 4×4 2.8 G เกียร์ธรรมดา ซึ่งต้องบอกว่าอยู่ในขั้นที่เรียกว่า ประทับใจทั้งเรื่องของสมรรถนะการขับขี่ และเรื่องของการยึดเกาะถนน

ว่ากันด้วยเครื่องยนต์ตัวใหม่ ซึ่งในครั้งนี้มีโอกาสได้ขับตัวเครื่องยนต์ 2.8 รหัส 1 GD-FTV เป็นเกียร์ธรรมดา ที่ต้องบอกว่าไม่ธรรมดาสำหรับการพัฒนาการทำงานของเครื่องยนต์และระบบคลัตช์ในเกียร์ธรรมดาลูกใหม่นี้ ทั้งนี้ในส่วนของระบบคลัตช์มีการปรับปรุงเพื่อให้เกิดความทนทานต่อการใช้งานและการเหยียบคลัตช์ที่นุ่ม ด้วยระบบ Powertrain  ซึ่งในส่วนของชุดจานกดคลัตช์ มีการออกแบบตัวลดแรงกดสปริงในส่วนของหวีคลัตช์ รวมถึงชุดแม่ปั๊มคลัตช์ตัวบนที่จะมีเซ็นเซอร์ตรวจจับระยะชักแม่ปั๊มคลัตช์ โดยที่จะมีสวิตช์ iMT (intelligent Manual Transmission) ในห้องโดยสาร

ซึ่งเกียร์ธรรมดาใน REVO นั้นเป็นเกียร์ 6 จังหวะตระกูล RC60 ที่ใช้ระบบการควบคุมตามความสัมพันธ์ของแรงบิดอัจฉริยะ iMT ที่สามารถเลือกได้ 2 Step รวมถึงมีระบบกลไกควบคุมการเข้าเกียร์ถอย และเพิ่มเซ็นเซอร์วัดรอบเพลาส่งกำลัง ทั้งนี้ในรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ จะใช้ระบบการควบคุมเกียร์ทรานสเฟอร์ 4WD และระบบ Diff Lock ที่ชุดเฟืองท้ายใหม่ โดยการปรับเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนใน REVO นั้นจะเป็นสวิตช์หมุน เมื่อมีการเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนในส่วนของเกียร์ทรานสเฟอร์จะมีชุดแอ็คคิวเอเตอร์คอยทำหน้าที่ควบคุมการเข้าเกียร์ทรานสเฟอร์ และในส่วนของ Diff Lock นั้นมีการวางตำแหน่งกลไกเลื่อนขบ Diff Lock เฟืองท้ายโดยโซลินนอยล์คอยส์

ส่วนพละกำลังของเครื่อง 1GD-FTV นั้นได้รับการจัดวางแบบ 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์ว DOHC ติดตั้งเทอร์โบชาร์จเจอร์แบบแปรผันและอินเตอร์คูลเลอร์ 2755 ซี.ซี. ให้แรงม้ามากถึง 177 ในรอบเครื่องยนต์ที่ 3,400 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุดสำหรับรุ่นเกียร์ธรรมดา 6 สปีด ขับสี่นั้นอยู่ที่ 420 นิวตัน-เมตร ที่รอบเครื่องตั้งแต่ 1400-2600 รอบ/นาที ทั้งนี้ทางโตโยต้าได้พัฒนาในส่วนของเครื่องยนต์ที่เด่นๆ นั้นไล่กันตั้งแต่ฝาครอบวาล์วที่ผลิตจากเรซิน มีท่อลำเลียงน้ำมันเครื่องรวมเป็นชุดเดียวกันกับด้านในฝาครอบวาล์ว ส่วนฝาสูบผลิตจากอลูมิเนียมอัลลอยด์และเสื้อสูบนั้นหล่อขึ้นจากเหล็กหล่อ ในส่วนของกลไกวาล์วนั้นใช้โซ่ไทมิ่งและตัวตั้งอัตโนมัติเป็นตัวขับเพลาลูกเบี้ยวทั้งด้านไอดีและไอเสีย และใช้ตัวปรับระยะห่างของวาล์วแบบไฮดรอลิก รวมถึงการเลือกใช้ระบบ Locker Arm และ Lash Adjuster ที่ออกแบบเพื่อลดแรงเสียดทานระหว่างลูกเบี้ยวและกระเดื่องวาล์วในจังหวะของการเปิด-ปิด ส่วนในเรื่องของระบบไอดีและไอเสียนั้นมีการใช้ระบบประจุอากาศแบบเทอร์โบแปรผัน โดยมีอินเตอร์คูลเลอร์เป็นตัวระบายความร้อนของอากาศก่อนเข้ากระบอกสูบ โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรงเป็นตัวขับการทำงานของลิ้นปีกผีเสื้อ

จากการพัฒนาในส่วนของเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังใหม่นั้น เมื่อได้ลองขับกันบนท้องถนนแบบใช้งานทั่วๆ ไป แล้ว สิ่งหนึ่งที่มองเห็นได้ชัดคือ พละกำลังมีมากขึ้นกว่าเดิมตอบสนองต่ออัตราเร่งได้ดี ในความเร็วที่ 120 กม./ชม. รอบเครื่องยนต์ยังคงอยู่ที่ 1,900 รอบ/นาที ซึ่งในส่วนของสวิตช์ iMT ที่ติดตั้งมาให้นั้น ช่วยให้การปรับเปลี่ยนจังหวะของเกียร์ในแต่ละตำแหน่งง่ายขึ้นลดอาการกระชาก นอกจากนั้นแล้วในส่วนความโดดเด่นอีกสิ่งหนึ่งที่มีมาให้คือเรื่องของระบบควบคุมเครื่องยนต์ ซึ่งเรียกว่า ระบบ Body Control with Torque Demand ซึ่งระบบนี้จะคอยควบคุมแรงบิดของเครื่องยนต์ไม่ให้สูงมากเกินไปเมื่อขับขี่บนถนนขรุขระเพื่อช่วยให้การขับขี่นุ่มนวล

และนี่คือเรื่องของการพัฒนาในส่วนของสมรรถนะการขับขี่ ที่ต้องบอกว่าสอบผ่านและได้รับคะแนนไปอย่างเต็มๆ ซึ่งเมื่อเทียบกับ Vigo แล้ว สามารถมองเห็นความแตกต่างในส่วนนี้ได้อย่างชัดเจน

RELATED ARTICLES

Most Popular