Friday, March 29, 2024
HomeAuto News“กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย” ผสาน “มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์” เดินหน้าแก้ปัญหาป่าไม้ น้ำหลากและน้ำแล้ง สร้างความสมดุลน้ำให้พื้นที่ลุ่มน้ำยม

“กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย” ผสาน “มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์” เดินหน้าแก้ปัญหาป่าไม้ น้ำหลากและน้ำแล้ง สร้างความสมดุลน้ำให้พื้นที่ลุ่มน้ำยม

 
กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ภายใต้มูลนิธิฮอนด้าประเทศไทย ผสานความร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สานต่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ เป็นปีที่ 4  และได้ขยายการดำเนินงานสู่พื้นที่ลุ่มน้ำยมปีนี้เป็นปีแรก พร้อมจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ “สร้างฝายหินก่อและฝายชะลอน้ำ” เพื่อบริหารจัดการน้ำในตำบลแม่จั๊วะ ร่วมกับเครือข่ายชุมชนแม่จั๊วะ กองทัพภาคที่ 3  ร้านผู้จำหน่ายและจิตอาสาจากกลุ่มลูกค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ฮอนด้าจังหวัดแพร่ ณ อ่างเก็บน้ำแม่จั๊วะและลำห้วยหีด จังหวัดแพร่  เพื่อแก้ปัญหาป่าไม้ น้ำแล้ง และน้ำท่วม  สร้างความสมดุลน้ำให้แก่ชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมอย่างยั่งยืน

นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการผู้จัดการกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย กล่าวว่า “ปัญหาการจัดการน้ำนับเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ซึ่งกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยมีความพร้อมสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ตามเจตนารมณ์ของฮอนด้าในการสร้างคุณค่าเพื่อเป็นองค์กรที่สังคมไทยต้องการให้ดำรงอยู่ตลอดไป จึงผสานความร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยเริ่มดำเนินโครงการในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ตั้งแต่ปี 2558 โดยตลอด 4 ปีในการดำเนินงานสามารถแก้ไขปัญหาน้ำหลากและน้ำแล้งในพื้นที่ตำบลนาแขม ตำบลเมืองเก่า ตำบลดงขี้เหล็ก และตำบลหัวหว้า จังหวัดปราจีนบุรีได้บรรลุผลสำเร็จ ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 ได้ขยายผลการดำเนินงานสู่พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน โดยตลอด 2 ปีในการดำเนินงานสามารถพัฒนาแหล่งน้ำและเสริมศักยภาพโครงสร้างน้ำ รวมทั้งบรรเทาปัญหาน้ำหลาก น้ำท่วม และน้ำแล้ง ในพื้นที่ตำบลบ่อเกลือใต้ และตำบลบ้านร้องแง จังหวัดน่าน และตำบลนครป่าหมาก จังหวัดพิษณุโลก และในปี 2561 โครงการฯ ได้ขยายผลการดำเนินงานสู่พื้นที่ลุ่มน้ำยม ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำหนึ่งใน 25 ลุ่มน้ำหลักที่สำคัญของประเทศไทย ครอบคลุม 10 จังหวัดภาคเหนือ ทั้งนี้ กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยให้การสนับสนุนงบประมาณรวมทั้ง 3 ลุ่มน้ำตั้งแต่ปี 2558 – 2561 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 42.6  ล้านบาท”

“กิจกรรมในวันนี้ (1 ธ.ค.) เป็นการรวมพลังจิตอาสาของเครือข่ายชุมชนแม่จั๊วะ กองทัพภาคที่ 3  ร้านผู้จำหน่ายและกลุ่มลูกค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ฮอนด้าในจังหวัดแพร่ เพื่อฟื้นฟูลำห้วยหีดซึ่งเป็นลำห้วยสาขาของลำห้วยแม่จั๊วะ โดยการก่อสร้างฝายชะลอน้ำจำนวน 5 ฝาย ช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้ป่าต้นน้ำ รวมทั้งฝายหินก่อขนาดใหญ่จำนวน 1 ฝาย เพื่อช่วยดักตะกอนและชะลอน้ำหลากที่ทำให้เกิดปัญหาดินโคลนถล่มไหลเข้าอ่างเก็บน้ำแม่จั๊วะ  ทำให้ประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำลดน้อยลง โดยคาดว่าโครงการดังกล่าว จะสามารถแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำหลากที่ประสบมากว่า 10 ปี รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืนให้แก่ชุมชนตำบลแม่จั๊วะ ส่งผลให้ประชากร 243 ครัวเรือนมีน้ำสำรองใช้เพิ่มขึ้น 61,000 ลบ.ม. สำหรับการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตรบนพื้นที่ 4,000 ไร่” นายพิทักษ์กล่าว

ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ได้น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ขับเคลื่อนเป็นเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพคนในชุมชน ให้สามารถพัฒนาและบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง  สำหรับในปีนี้ได้ขยายการดำเนินงานร่วมกับกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ในพื้นที่ต้นน้ำยม ที่ประสบปัญหาน้ำแล้ง น้ำหลาก ในขณะที่พื้นที่ต้นน้ำมีอ่างเก็บน้ำ มากกว่า 200 อ่าง และขาดการดูแลรักษา ตั้งแต่พื้นที่ป่าต้นน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำ และระบบกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตร อีกทั้งลุ่มน้ำยมขาดการบริหารจัดการน้ำและสำรองน้ำ ทำให้สามารถกักเก็บน้ำได้เพียง 406 ล้าน ลบ.ม. (คิดเป็น 10% ของปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี) ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำในการอุปโภค บริโภค และเกษตรกรรมสูงถึง 2,214 ล้าน ลบ.ม. หรือสนองตอบความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมได้เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ทางมูลนิธิจึงมีแนวทางในการพัฒนาใน 2 ด้าน คือ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้มีน้ำเติมแหล่งเก็บน้ำได้ตลอดทั้งปี และแก้ปัญหาน้ำหลาก น้ำแล้ง ด้วยการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างน้ำเดิมให้สามารถใช้งานได้ ตลอดจนการฟื้นฟูลำน้ำสาขา ซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำท่วมสะสมในช่วงฤดูน้ำหลาก โดยดำเนินงานร่วมกับจังหวัดแพร่ องค์บริหารส่วนจังหวัดแพร่ ท้องถิ่น ท้องที่ และชุมชน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กองทัพบก กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมเจ้าท่า กรมพัฒนาที่ดิน และกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย

 
 
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า “ผมขอขอบคุณกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ที่ได้ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน)  รวมทั้งแสดงความชื่นชมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนแม่จั๊วะ ที่ร่วมดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ในชุมชนและอ่างเก็บน้ำแม่จั๊วะ  โดยน้อมนำแนวพระราชดำริมา        บริหารจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ดำเนินงานแก้ไขปัญหาน้ำที่เรื้อรังมายาวนาน ทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง ด้วยการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำ และบริหารจัดการน้ำ เพื่อใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำรองสำหรับการเกษตรและการอุปโภค บริโภค ซึ่งการดำเนินงานนี้ จะเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูการจัดการน้ำในชุมชนอื่นๆ  ให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน เกิดการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ ส่งผลให้ชาวบ้านมีน้ำเพียงพอในการทำการเกษตร การอุปโภคบริโภคน้ำในครัวเรือน  และช่วยให้ประชาชนมีรายได้จากการทำเกษตรผสมผสานตามแนวคิดทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9”

สำหรับโครงการ “พัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริพื้นที่ลุ่มน้ำยม” เป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี (พ.ศ. 2561-2563) ดำเนินงานใน 3 พื้นที่ ประกอบด้วย 1) พื้นที่ต้นน้ำ ในตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา มีเป้าหมายในการพัฒนาฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เพื่อเสริมความมั่นคงน้ำในการอุปโภคและบริโภค 2) พื้นที่กลางน้ำ ประกอบด้วย 2 พื้นที่ ได้แก่ 1. ตำบลแม่จั๊วะ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ และ 2. บ้านป่าเลา อำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีเป้าหมายในการพัฒนาแหล่งน้ำและโครงสร้างน้ำ เพื่อเสริมความมั่นคงน้ำในการอุปโภค บริโภคและเกษตร และ 3) พื้นที่ปลายน้ำ ใน ตำบลหนองจิก อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย มีเป้าหมายในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร
 
เกี่ยวกับกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย
กลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิฮอนด้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 เพื่อเตรียมความพร้อมในการมอบความช่วยเหลือฉุกเฉินให้กับประชาชนไทยในยามที่ประเทศไทยอาจเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาทิ แผ่นดินไหว ดินถล่ม ภัยหนาว ภัยแล้ง น้ำท่วม ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินงานภายใต้กองทุนดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที โดยมอบเงินสมทบ 1,000 บาทต่อการขายรถยนต์ 1 คัน 100 บาทต่อการขายรถจักรยานยนต์ 1 คัน และ 10 บาทต่อการขายเครื่องยนต์อเนกประสงค์ 1 เครื่อง ปัจจุบันกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย มียอดเงินสะสม ณ เดือนตุลาคม 2561 เป็นจำนวนเงินกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้กองทุนฯได้กำหนดภารกิจในการดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง    ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่

  • 1) ด้านเงินทุน
  • 2) ด้านวัสดุอุปกรณ์ 
  • 3) ด้านการเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือ 
  • 4) ด้านการส่งเสริมความรู้ในการรับมือภัยพิบัติ 

โดยตลอดระยะเวลา 6 ปีของการดำเนินการ “กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย” ได้มีส่วนร่วมให้ความช่วยเหลือพี่น้องชาวไทยทั่วประเทศ 37 จังหวัด รวมจำนวนเงินกว่า 250 ล้านบาท

RELATED ARTICLES

Most Popular