Thursday, March 28, 2024
HomeAuto Testทดลองขับ “ฮอนด้า ซิตี้ 2017” ระยะทาง 350 กม. ซีดานซับคอมแพคตกแต่งใหม่ เพื่อความเป็นที่สุดในทุกด้าน

ทดลองขับ “ฮอนด้า ซิตี้ 2017” ระยะทาง 350 กม. ซีดานซับคอมแพคตกแต่งใหม่ เพื่อความเป็นที่สุดในทุกด้าน

เริ่มต้นปีไก่ได้ไม่นาน วงการรถยนต์ก็ร้อนระอุขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากหลากค่ายรถนำโปรดักส์ใหม่ป้อนสู่ตลาดเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค เช่นเดียวกับ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเผยโฉม “ฮอนด้า ซิตี้ 2017” ที่ตกแต่งให้หรูหรายิ่งขึ้นแต่จำหน่ายในราคาเท่าเดิม พร้อมกับเชิญชวนสื่อมวลชนเข้าร่วมสัมผัสกับยนตรกรรมซับคอมแพครุ่นธง โดยใช้เส้นทางกรุงเทพ-ราชบุรี ระยะทางไป-กลับ รวม 350 กม.

การเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุด รวมถึงสมรรถนะการขับขี่ ของ “ฮอนด้า ซิตี้ 2017” จะมีอะไรที่น่าสนใจ และให้ความคุ้มค่า คุ้มราคา มากหรือน้อยเพียงใด ติดตามได้จากรายงาน

ฮอนด้า ซิตี้ 2017 กลับสู่ตลาดในเซกเมนต์ของรถยนต์ซีดานซับคอมแพคอีกครั้งด้วยขนาดมิติตัวรถเท่ากับรุ่นเดิมแต่ได้รับการปรับแต่งรูปลักษณ์ทั้งภายในและภายนอก โดยให้หรูหรา และโฉบเฉี่ยวสไตล์สปอร์ต

การตกแต่งเพิ่มเติมจนสะดุดตาคือระบบไฟหน้า LED แบบใหม่ และเป็นครั้งแรกของยนตรกรรมซับคอมแพคท์ที่มีการติดตั้งไฟส่องสว่างสำหรับการขับขี่ในเวลากลางวันแบบ LED ประกอบไปด้วยหลอดไฟเรียงตัวเป็นแนวยาว สะท้อนแสงด้วย Reflector Lens

การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ยังรวมไปถึงกระจังหน้าแบบโครเมียม ดูผ่านๆจะคล้ายคลึงกับ ฮอนด้า ซีวิค ซึ่งส่งเสริมให้ภาพลักษณ์ดูสปอร์ตยิ่งขึ้น พร้อมกับดีไซน์กันชนหน้า-หลัง ใหม่ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์สำหรับรถรุ่นนี้

นอกจากนี้ ล้ออัลลอยลายสปอร์ต เป็นอีกหนึ่งจุดที่ได้รับการออกแบบใหม่ ในรุ่น V และ V+ ใช้ขนาด 15 นิ้ว ส่วนรุ่น SV และ SV+ จะใช้ขนาด 16 นิ้ว

ภายในเป็นอีกหนึ่งการปรับปรุง โดยเพิ่มความหรูหราแต่ยังคงความสปอร์ต พร้อมพื้นที่ใช้สอยกว้างขวาง ตกแต่งแผงคอนโซลด้วยสีกันเมทัลลิก (Gun Metallic) พร้อมเบาะนั่งลวดลายล่าสุด

การปรับแต่งยังรวมไปถึงบริเวณช่องแอร์ คันเกียร์ และรอบมาตรวัด แต่งด้วยวงแหวนสีเงิน สำหรับมาตรวัดเรืองแสงแบบ 3 วง ออกแบบให้ดูมีมิติยิ่งขึ้น พร้อมไฟเรืองแสงสีขาวขณะสตาร์ทรถ

บริเวณแผงแดชบอร์ดมีระบบแสดงผลการขับขี่แบบประหยัดน้ำมัน ใกล้กันจะมีระบบสตาร์ทเครื่องยนต์ และระบบควบคุมประตูแบบอัจฉริยะ เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน

พวงมาลัยติดตั้งระบบควบคุมการเปลี่ยนเกียร์แบบแพดเดิลชิฟท์ 7 จังหวะ พร้อมสวิตช์ควบคุมเครื่องเสียงที่มากับปุ่มรับ-วางสายโทรศัพท์ ซึ่งติดตั้งในรุ่น SV และ SV+ เท่านั้น

ออฟชั่นบางรายการที่ต่างจากรุ่นก่อนคือ ไฟอ่านแผนที่ด้านหน้า และไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสารแบบ LED รวมถึงติดตั้งเทคโนโลยีเพื่อการควบคุมอัจฉริยะ อาทิ ระบบเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัสที่รองรับการเชื่อมต่อโทรศัพท์แบบไร้สาย Bluetooth สามารถเชื่อมต่อได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Andriod และ iOS ขับกล่อมเสียงเพลงผ่านลำโพงมากถึง 8 จุด

ฮอนด้า ซิตี้ 2017 ใช้ขุมพลังรุ่นเดิมในรูปแบบของเครื่องยนต์ SOHC i-VTEC 1.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 117 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 146 นิวตัน-เมตร ที่ 4,700 รอบต่อนาที ระบบส่งกำลังมีทั้งแบบเกียรธรรมดา 5 จังหวะและ เกียร์อัตโนมัติ CVT พัฒนาภายใต้เทคโนโลยีเอิร์ธดรีม พร้อมระบบ “Ecological-Drive Assist System” หรือ “E-CON System” ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานที่สิ้นเปลือง ทั้งยังรองรับพลังงานทางเลือก E85

สิ่งที่ผู้ผลิตไม่ได้มองข้ามคือการจัดเต็มด้านมาตรฐานความปลอดภัยเชิงป้องกันก่อนเกิดเหตุ (Active Safety) และปกป้องเมื่อเกิดเหตุ (Passive Safety) โดยนำ เทคโนโลยี G-CON ซึ่งเป็นผลมาจากการวิจัยและศึกษาในเรื่องสภาพการชนที่เกิดขึ้นจากการใช้งานจริง ช่วยลดอาการบาดเจ็บด้วยการควบคุมแรงกระแทกที่เกิดจากการชน ทั้งยังช่วยปกป้องความเสียหายให้กับตัวรถ

ความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสารได้รับการติดตั้งถุงลม 6 ตำแหน่ง ได้แก่ ถุงลมคู่หน้า ถุงลมด้านข้างคู่หน้าแบบอัจฉริยะ และม่านถุงลมด้านข้าง ระบบช่วยควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง (VSA) ระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (HSA) สัญญาณไฟฉุกเฉินอัตโนมัติขณะเบรกกะทันหัน (ESS) และกล้องส่องภาพด้านหลังปรับมุมมอง 3 ระดับ

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เตรียม ฮอนด้า ซิตี้ รุ่นท๊อฟ (SV+) ไว้ให้สื่อมวลชนทดลอง โดยมีจุดปล่อยรถที่ บริษัท เอที ฮอนด้า ออโตโมบิล (เอกชัย-บางบอน) จำกัด ใช้เส้นทางปิ่นเกล้า-นครชัยศรี ต่อไปยังจ.ราชบุรี และมีจุดหมายปลายอยู่ที่ เดอะซีนเนอรี่ วินเทจ ฟาร์ม ในอ.สวนผึ้ง ระยะทางรวมทั้งสิ้น 350 กม.โดยประมาณ

เริ่มต้นในฐานะผู้ขับขี่ การจราจรช่วงไพรม์ไทม์ คงไม่ต้องอธิบายถึงความพลุกพล่านของผู้ใช้รถใช้ถนน ด้วยความที่เป็นรถในกลุ่มซับคอมแพค ซึ่งให้ความคล่องตัวสูง จึงเหมาะสมกับการเป็นซิตี้คาร์ได้อย่างลงตัว แม้ว่าพวงมาลัยจะเบาและมีช่วงฟรีบ้างเล็กน้อย ซึ่งค่อนข้างเหมาะสมกับคุณผู้หญิง เพราะการหมุนพวงมาลัยไม่ต้องใช้แรงเยอะ ถ้าถามถึงความแม่นยำในการควบคุมอาจจะลดน้อยถอยลงไปบ้าง แต่ประเด็นนี้ใช้เวลาสร้างความคุ้นเคยได้ไม่นานนัก

ไฮไลท์สำหรับการใช้งานในเมืองกับโหมดประหยัดน้ำมัน (Econ Mode) ถือเป็นฟังค์ชั่นที่เหมาะสม อัตราสิ้นเปลืองโดยค่ายผู้ผลิตเคลมไว้อยู่ที่ 17.9 กิโลเมตรต่อลิตร ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ เป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นถึงความประหยัด ซึ่งเป็นจริงและอัตราสิ้นเปลืองก็ใกล้เคียงกับตัวเลขที่แจ้งไว้

หากต้องการเรียกสมรรถนะ ฮอนด้า ซิตี้ SV+ ที่ใช้ในการทดสอบได้รับการติดตั้งระบบแพดเดิลชิฟท์ สามารถเพิ่มหรือลดตำแหน่งเกียร์ได้ตามต้องการ ทั้งนี้ทางวิศวกรจากฮอนด้าอาจเล็งเห็นในด้านของความประหยัด เพราะเมื่อคันเกียร์อยู่ที่ตำแหน่ง D แพดเดิลชิฟท์จะไม่ทำหน้าที่ในรูปแบบสปอร์ต หลายคนที่เป็นแฟนฮอนด้าจะรู้ดีถึงเรื่องนี้ พูดง่ายๆคือ แพดเดิลชิฟท์จะทำงานแทนโอเวอร์ไดรฟ์ แต่มีคุณสมบัติเหนือกว่าเพราะสามารถเพิ่มหรือลดเกียร์ได้ แทนที่จะต้องควบคุมตำแหน่งเกียร์ด้วยตัวเอง ระบบจะตัดการทำงานมาเป็นเกียร์อัตโนมัติทันที

ในกรณีที่อยากได้สมรรถนะเต็มเปี่ยม ต้องเลื่อนคันเกียร์มาที่ตำแหน่ง S เท่านั้น รอบความเร็วจะถูกสั่งการโดยกล่องควบคุมอิเลคทรอนิคส์ และระบบแพดเดิลชิฟท์ก็จะทำงานเต็มประสิทธิภาพ เลือกเพิ่มหรือลดตำแหน่งได้ในรูปแบบเกียร์ธรรมดา โดยที่ระบบจะไม่ตัดการทำงานกลับไปเป็นเกียร์อัตโนมัติ ช่วยให้การขับขี่เป็นไปอย่างสนุกและเร้าใจยิ่งขึ้น

ระบบช่วงล่างออกแบบมาค่อนข้างเหมาะสมสำหรับการใช้งานในเมือง แต่การใช้งานนอกเมืองหากต้องใช้ความเร็วสูงอาจจะนุ่มไปสักนิด แต่ก็ไม่ได้ทำให้บั่นทอนการยึดเกาะถนนลงไปแต่อย่างใด ทั้งนี้ระบบช่วยเหลือต่างๆ อาทิ ระบบช่วยควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง (VSA) ระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (HSA) เป็นตัวช่วยที่ทีมวิศวกรออกแบบตั้งใจให้ทำงานร่วมกับระบบช่วงล่างได้ค่อนข้างลงตัว

หมดหน้าที่ผู้ขับขี่ถึงเวลาของการสำรวจภายในกับสถานะผู้โดยสาร แม้ว่าเป็นรถซีดานซับคอมแพค แต่ความกว้างขวาง และโอ่โถงของห้องโดยสารไม่ตกเป็นรองคู่แข่ง สิ่งที่สัมผัสได้คือความเงียบยิ่งในย่านความเร็วต่ำ เสียงที่เร็ดลอดเข้าห้องโดยสารแทบจะไม่ได้ยิน แต่หากใช้ความเร็วเกิน 100 กม./ชม. อาจมีเสียงเครื่องยนต์เร็ดรอดเข้ามาบ้างเล็กน้อย วิธีแก้ไขไม่ยาก จัดการหยิบสมาร์ทโฟนมาเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องเสียง พร้อมเลือกบทเพลงเสนาะหูโดยใช้ฟังค์ชั่น Bluetooth ถ่ายโอนข้อมูลเพลงส่งเสียงผ่านลำโพงทั้ง 8

ช่วงสุดท้ายของการทดสอบเป็นการป้วนเปี้ยนกับ “เบาะนั่ง” อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่สื่อมวลชนหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่านั่งสบายและหลับสบายด้วยเช่นกัน การทดลองนั่งครั้งนี้ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยในส่วนของผู้โดยสาร เพราะนอกจากเรื่องความปลอดภัยยังช่วยให้ร่างกายไม่เคลื่อนตัวตามแรงเหวี่ยง แล้วผมก็หลับลึกโดยมีเสียงเพลงไพเราะขับกล่อมจาก อ.สวนผึ้งมาจนถึงโชว์รูมเอที ฮอนด้า ออโตโมบิล โดยสวัสดิภาพพร้อมกับการนอนหลับอย่างเต็มอิ่ม

บทสรุปการทดลองขับ ฮอนด้า ซิตี้ 2017

รูปลักษณ์ภายนอกเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนจากมุมมองด้านหน้ารถ ทั้งโคมไฟ หน้ากระจัง และกันชนหน้า-หลัง ที่เหลืออาจชินตามาจากรุ่นก่อน ภายในที่แปลกตาคือการตกแต่งคอนโซลและชุดแดชบอร์ด สมรรถนะเครื่องยนต์ไม่หนีไปจากรุ่นเดิมเพราะยกขุมพลังและระบบส่งกำลังมาทั้งชุด แต่ในรุ่น SV และ SV+ติดตั้งแพดเดิลชิฟท์ช่วยให้สนุกไปกับการขับขี่ ระบบความปลอดภัยจัดเต็มไปกับถุงลมนิรภัย 6 จุด พร้อมเทคโนโลยี G-CON ซึ่งผ่านการศึกษาวิจัยมาจากการใช้งานจริง รวมถึงติดตั้งตัวช่วยการขับขี่เต็มพิกัด

ในด้านราคา บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ยังคงใช้ราคาเดียวกับฮอนด้า ซิตี้ โฉมก่อน โดยรุ่น SV+ CVT ราคา 751,000 บาท,รุ่น SV CVT ราคา 736,000 บาท,รุ่น V+ CVT ราคา 689,000 บาท,รุ่น V CVT ราคา 649,000 บาท,รุ่น S CVT ราคา 589,000 บาท และ รุ่น S MT ราคา 550,000 บาท เมื่อนำมาเทียบกับสิ่งที่เพิ่มเติมมาในโมเดล 2017 สามารถพูดได้เต็มปากว่า “สุดคุ้ม” ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวคุณเองว่าจะเห็นควรตามที่ได้นำเสนอหรือไม่

RELATED ARTICLES

Most Popular